เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ “เที่ยวไปในลำพูน >> ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย” (ตอนที่ 1)

เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ 
“เที่ยวไปในลำพูน >> ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย”
(ตอนที่ 1) 
เรื่อง พลอย มัลลิกะมาส
ภาพ นิธิวีร์

แสงแรกแห่งวันส่องประกายขึ้นที่นอกหน้าต่าง ฉันชะโงกหน้าออกไปมองสองฝากฝั่งถนนที่เรียงรายไปด้วย “ต้นยาง” หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญที่แบ่งเขตแดนระหว่างสองเมืองสำคัญแห่งเมืองล้านนาในอดีต ทันทีที่แว่วเสียงอันแสนคุ้นเคยของคุณลุงคนขับรถก็ดังขึ้น ทำให้แน่ใจว่าเราได้เดินทางมาใกล้จุดหมายปลายทางกันแล้ว

“สิ้นสุดเขตต้นยาง ก็เข้าสู่เขตจังหวัดลำพูนแล้วครับ”

ลำพูน หรือ หละปูนในภาษาท้องถิ่น เมืองเล็กๆ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งความเรียบง่ายในความรู้สึก ที่แม้ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาอย่างเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือ หากแต่ทว่าที่นี่ ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมชาติทั้งในเรื่องของบรรยากาศและวิถีชีวิต ใครบางคนที่มอบกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตและหัวใจไว้ให้กับเมืองเล็กๆแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเมืองนี้มีชื่อว่า นคร
ลำพูนเมืองหริภุญชัยหริภุญชัย นครเล็กๆ ที่แสนยิ่งใหญ่เกรียงไกร และเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินล้านนา อาณาจักรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากอดีตหนหลังกว่า 1,300 ปี หลังจากที่ฤาษีวาสุเทพเกณฑ์พวกละว้า ล่องเรือลงมาจากต้นแม่น้ำปิงเพื่อสร้างเมืองใหม่ เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1200 จากนั้นจึงได้อัญเชิญ พระนางจามเทวี พระธิดาแห่งเมืองละโว้ขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์หญิงองค์แรก ก่อนจะมีกษัตริย์ปกครองนครหริภุญไชยแห่งนี้สืบต่อมาอีก 600 ปี แล้วตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา และเมืองขึ้นของพม่าอีกกว่า 200 ปี จนสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินมหาราชในการขับไล่พม่าได้สำเร็จและขึ้นปกครองเชียงใหม่ จึงให้ เจ้าคำฝั้น น้องชายย้ายลงมาปกครองเมืองหริภุญไชย โดยอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 ก็ได้มีการยกฐานะนครหริภุญไชย ขึ้นเป็นจังหวัดลำพูนไปในที่สุด

คุณวัลลภ บุญเจริญ หนุ่มใหญ่จากภาคใต้ที่โชคชะตาพัดพามาให้รักและลงหลักปักฐานกับสาวเมืองหละปูน นานร่วม 30 ปี จนเกิดเป็นกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นคุณแดง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดช้างร้อง หนึ่งในวัดดังของตัวเมืองกล่าวขึ้นอย่างน่าประทับใจ เมื่อถูกถามว่าประทับใจอะไรในเมืองลำพูนแห่งนี้
“กาลเวลา ทำอะไรที่นี่ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมเช่นเดียวกับวันแรกที่ผมย้ายมาอยู่ที่นี่
แม้ในช่วงวันธรรมดาตัวเมืองจะค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยคักคัก เหมือนช่วงเทศกาล คนส่วนใหญ่ผ่านมาลำพูน เพราะต้องการมาไหว้พระ ..น้อยคนนักที่จะหยุดพัก เพราะต้องการทำความรู้จักที่นี่จริงๆ”การเดินทางในครั้งนี้ ฉันตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้ต้องการทำความรู้จักลำพูนแค่เพียง เมืองผ่าน หากแต่ทว่า อยากจะหยุดพัก ทักทาย และทำความรู้จักกับเมืองเล็กๆเมืองนี้ และจากความตั้งใจนี้เอง ทำให้ฉันมีโอกาสได้พบกับ สองสามีภรรยาคู่น่ารักอย่าง คุณวิรัตน์ – จารุวรรณ ภู่เจริญ เจ้าของบูติคโฮเทล ขนาดกะทัดรัด ที่ช่วยเปิดทางให้ได้ทำความรู้จักนครน้อยน่ารักแห่งอาณาจักรล้านนาแห่งนี้ได้มากยิ่งขึ้น โดยคุณป้าจารุวรรณแนะนำได้อย่างน่าสนใจที่สุดว่า ลำพูน คือ สวรรค์ของคนรักผ้า ที่มีสามเส้นทางสายแพรพรรณที่น่าแกะรอยที่สุด !

เส้นทางที่หนึ่ง เส้นทางสายไหม “ศิลปะบนผืนผ้า ค่าควรเมือง”
ป้าจารุวรรณ กูรูเมืองลำพูนกล่าวว่า หากเดินทางมาลำพูน แล้วไม่ได้สัมผัสวิถีการทอ “ผ้ายกดอก ลำพูน” หนึ่งเดียวของสิ่งทอที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาอังกฤษว่า G.I. (Geographical Indication) นั่นเรียกว่า ยังมาไม่ถึง ด้วยว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูน คือ ผ้าทอล้ำค่าลวดลายสถาบันผ้าทอหริภุวิจิตบรรจง ที่นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ได้ครอบครองทั้งหลายว่าได้มีโอกาสครอบครองผลงานศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้ช่างทอผ้าไหมยกดอกลำพูนต่างได้รับการยกย่องว่า เป็น ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะชิ้นเอกความงดงามของผ้าไหมยกดอกลำพูน ปรากฎในจดหมายเหตุรายวันจากบันทึกของ ท่านออสคาร์ ดยุคออก ก๊อตแลนด์ แห่งสวีเดน ครั้งเสด็จเป็นพระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวไว้ว่า”เครื่องทรงของพระราชินี เข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วย ฉลองพระองค์ โบรเคด (ไหมยกดอก) สีทองๆ เงินๆ ขนาดพอดีพระองค์ แขนขับเป็นจีบ ทำด้วยไหมทองที่มีจุดขาว โดยมีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวมๆ พร้อมทรงสนับพลาหรือผ้าทรง แบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่งเป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง”คุณศิริลักษณ์ เขื่อนควบ เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย เล่าให้ฟังว่า ในอดีตคนลำพูนนั้นทอผ้าใช้เองมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผ้ายกดอกนั้นก็มีใช้กันอยู่แต่เดิม แต่เป็นการทอยกดอกในผ้าฝ้าย ด้วยลวดลายธรรมดาๆ ที่ไม่วิจิตร กระทั่งพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา การทอผ้าไหมยกดอกจึงเผยแพร่ไปทั่ว และคนรุ่นหลังก็ได้เรียนรู้การทอผ้ายกดอกจากคนในคุ้มไปในที่สุด ทำให้ลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกที่สำคัญของประเทศ
“ลำพูน เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ คือ มีกลุ่มคนอาศัยอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ ทั้ง ยวน โยนก ไทใหญ่ มอญ เขิน ลื้อ ลั้วะ ยางแดง และไทลื้อ หญิงสาวชาวลำพูนกับเรื่องของการทอผ้าจึงผูกพันมามานาน จนอาจเรียกได้ว่า การทอผ้า คือ หนึ่งในวิถีชีวิตของคนที่นี่ โดยเฉพาะการทอผ้าของชาวยอง ซึ่งเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ในประเทศพม่า
สำหรับสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย จัดตั้งขึ้นจากความตั้งใจจะสร้างแหล่งภูมิปัญญาเรื่อง “ผ้าลำพูน” ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ด้วยเกรงจะสูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ซึ่งถือเป็น ศูนย์เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวลำพูน”ตำนานผ้าทอยกดอกลำพูน เกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นสูง วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการทอผ้าจะเน้น เส้นไหม (Silk) มากกว่าฝ้าย (Cotton) ซึ่งฝ้ายมักใช้เป็นเสื้อผ้าของชนชั้นล่าง ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้มีการประยุกต์ผ้าฝ้ายและผ้าไหม มาใช้ร่วมกัน จนกระทั่งเมื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7) พระราชชายาในพระบาทพิพิธภัณฑ์เครื่องทรงเจ้านายฝ่ายเหนือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่ ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระราชชายาได้นำองค์ความรู้จากราชสำนักส่วนกลางขณะที่ทรงประทับในวังหลวง มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลายผ้า และได้ฝึกหัดให้คนในคุ้มเชียงใหม่หัดทอผ้ายก โดยเพิ่มลวดลายต่างๆ ลงบนผืนผ้าไหม เพื่อให้มีความพิเศษ และโดดเด่นมากขึ้น ด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายโดยใช้ตะกอเพื่อให้ทอลวดลายที่สลับซับซ้อน ได้อย่างปราณีตและงดงามมากขึ้น และเนื่องจาก พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทอผ้ายกให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย และเจ้าหญิงลำเจียก (พระธิดา เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) โดยทั้งสองพระองค์ได้นำความรู้ด้านการทอผ้ายกมาฝึกให้แก่คนในคุ้มหลวงลำพูน ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้มหลวง จนเกิดความชำนาญและมีการเผยแพร่วิธีการทอผ้าไปทั่วชุมชนต่างๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งผ้าไหมยกดอกที่เจ้าหญิงส่วนบุญได้ทรงฟื้นฟู คือ ผ้าไหมยกดอกที่มีความวิจิตรงดงาม ทรงใช้เทคนิคการทอผ้าจากภาคกลางมาประยุกต์ ซึ่งการทอผ้าในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากในตำบลเวียงยอง และชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนได้รับความนิยมจากเจ้านายยองในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ถือเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และได้มีการขยายแหล่งทอผ้าไปในอำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง ทำให้จังหวัดลำพูน กลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกที่สำคัญของประเทศไทย โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือ ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ฯลฯ และมีการประยุกต์ให้มีลวดลายที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และพิกุลกลม ฯลฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ถนนสายต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูนผ้าทอเมืองลำพูนปั่นจักรยานริมน้ำกก

Cr.Ploy mallikamas
ลงวันที่ 14 มกราคม 2016